Sunday, May 4, 2014

"กระแดะ"ไว้ก่อน ครูสอนไว้

อุ๊ปส์ แค่ได้อ่านชื่อโพสท์ก็สงสัยแล้วใช่ไหมคะเด็กๆ สิ่งที่ครูตุ๊กจะแบ่งปันให้ฟังในวันนี้ก็คือ "การกระแดะ"ในการพูดภาษาอังกฤษค่ะ

คำว่า "กระแดะ"นั้น ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 เป็นคำกริยา มีความหมายว่า ดัดจริต, ทำในสิ่งที่ไม่น่าทำ. แต่สำหรับครูตุ๊กแล้ว คำๆนี้มีหมายความในภาษาอังกฤษถึง overact (โอเวอร์แอคท์) ซึ่งแปลว่า การแสดงออกที่เกินจริง และการแสดงออกที่เกินจริงนี่แหล่ะที่จะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้นักเรียนทุกคนพูดภาษาอังกฤษได้ดีทีเดียวค่ะ 

ปัญหาหลักของการฝึกพูดภาษาอังกฤษของนักเรียนไทยก็คือ ความไม่กล้า และอายที่จะฝึกพูดภาษาอังกฤษ ดังนั้นนักเรียนส่วนใหญ่ก่อนที่จะเอ่ยประโยคภาษาอังกฤษออกมา ก็มักจะมองซ้ายขวาหน้าหลัง ว่ามีใครมองตนอยู่หรือไม่ แล้วก็พูดออกมาแบบธรรมดาๆไม่มีอารมณ์ใดๆทั้งสิ้น นี่ละค่ะปัญหาใหญ่ ดังนั้นการกระแดะจึงเป็นสิ่งที่สำคัญจริงๆ วันนี้คุณครูก็มีตัวอย่างวีดีโอคลิปที่แสดงให้เห็นว่า กฎข้อแรกของการพูดภาษาอังกฤษให้ได้ดีก็คือการ "กระแดะ" ลองจำไปใช้นะคะเด็กๆ 




วีดีโอคลิปนี้ถูกทำขึ้นโดยกลุ่มนักเรียนมัธยมศึกษาปีที่สอง ในรายวิชาสังคมศึกษา (Social Studies) ที่ครูตุ๊กสอนในห้องเรียนค่ะ

Monday, June 6, 2011

หนูพูดไม่ออก แถมขาสั่น ทำยังไงดีคะครู

เมื่อวานเย็นครูเข้าสอนนักเรียนชั้นม.1ในรายวิชาสังคมศึกษา กิจกรรมในห้องเรียนคือการออกไปพูดหน้าชั้นเรียนเรื่องประเทศของฉัน ครูเชื่อว่าสมัยตอนอยู่ชั้นประถม นักเรียนทุกคนคงต้องเคยผ่านประสบการณ์การพูดหน้าชั้นเรียนมาแล้วทุกคน แต่ครั้งนี้ สิ่งที่ต่างไปคือ นักเรียนต้องพูดเป็นภาษาอังกฤษค่ะ สำหรับนักเรียนหลายๆคน แค่การพูดภาษาอังกฤษในคาบเรียนปกติก็แย่แล้วใช่ไหมคะ นี่ยังต้องพูดหน้าชั้นเรียนอีก อายเพื่อนก็อาย ออกเสียงถูกหรือเปล่าก็ไม่รู้ แล้วครูจะว่ายังไงบ้าง เฮ้อ คิดไปต่างๆนา

นักเรียน 2-3 คนทำได้ดีทีเดียวโดยเฉพาะคนที่มีพื้นฐานการใช้ภาษาอังกฤษสมัยอยู่รร.ประถม แต่สำหรับนักเรียนส่วนใหญ่แล้ว การพูดหน้าชั้นเรียนถือเป็นฝันร้ายเลยทีเดียว "ครูคะ ตะกี้ตอนนั่งฟังเพื่อนพูดอยู่ หนูยังท่องได้อยู่เลย แต่พอออกมาหน้าห้อง หนูลืมหมดเลยค่ะ" นักเรียนคนนี้เล่าให้ฟังว่า สมัยอยู่รร.เก่าก็เคยพูดหน้าชั้นเรียน แต่ไม่บ่อยนักและก็ยังพูดภาษาไทยไม่ใช่ภาษาอังกฤษ "เวลาหนูพูด หนูต้องหลับตาค่ะ จะได้ไม่เห็นเพื่อน ไม่อย่างนั้นพูดไม่ออก ขาสั่นด้วยค่ะ" สุดท้าย ครูก็หันไปบอกให้นักเรียนทุกคนที่นั่งอยู่ในห้องเรียนก้มหน้าฟุบโต๊ะให้หมดทุกคน เพื่อให้นักเรียนคนนี้ไม่เกิดความกลัว ประหม่า เวลาพูดเพราะนี่คือการพูดหน้าชั้นเรียนครั้งแรกของการอยู่ Englsih Program

สำหรับการพูดครั้งแรก นักเรียนคนนี้ทำได้ดีกว่าที่เคยทำมา เมื่อเพื่อนๆก้มหน้าแล้ว นักเรียนก็สามารถตั้งสติและมีสมาธิมากขึ้น พูดติดขัดบ้างเล็กน้อยแต่ก็ผ่านไปได้ด้วยดี เมื่อการพูดจบลง ก็เหมือนยกภูเขาออกจากอกเลย เมื่อเพื่อนๆเงยหน้าขึ้นมามอง นักเรียนคนนี้ก็เริ่มประหม่าอีกครั้งค่ะ วิธีแก้ ออกมาพูดหน้าชั้นบ่อยๆค่ะ ครูเลยกำหนดให้นักเรียนคนนี้พูดหน้าชั้นเรียนทุกๆครั้ง และปรับตัวให้ชินให้ได้ เพื่อนๆจะเงยหน้ามองตามปกติ พูดได้มากหรือน้อย ก็ต้องพูด เพื่อเป็นการฝึกฝนค่ะ จำไว้นะคะนักเรียน เมื่อเรากลัวการทำสิ่งใด ให้เราทำมันซ้ำบ่อยๆเพื่อที่เราจะชินและไม่กลัวมันอีกต่อไปค่ะ 

Bryan Tracy ผู้แต่งหนังสือเรื่อง Eat that frog..กินกบตัวนั้นซะ  Eat that frog ก็หมายถึงว่า การกินกบเหมือนกับการทำสิ่งที่ตัวเองไม่อยากทำที่สุดซึ่งมันก็คงเป็นสิ่งที่เลวร้ายที่สุดของวันนั้นแล้ว แต่ถ้าเรารีบกินมันเสีย อย่างน้อยเราจะได้ภาคภูมิใจว่าจะสามารถผ่านพ้นวันนั้นไปได้ เปรียบเสมือนกับการพูดหน้าชั้นเรียน พูดไปเถอะค่ะ ทำให้มันเป็นความเคยชิน แล้วนักเรียนก็จะสามารถแก้ไปการกลัวการพูดหน้าชั้นเรียนไปเอง ขอให้มีความสุขกับการพูดหน้าชั้นเรียนทุกคนค่ะ


Sunday, June 5, 2011

ภาษานั้น สำคัญไฉน...

โตขึ้นอยากเป็นอะไร..นี่คือคำถามยอดฮิตที่เด็กๆทุกคนคงเคยได้ยินกันมาตั้งแต่เล็กๆ ไม่ว่าสิ่งที่พูดออกไปจะเป็นความใฝ่ฝันของนักเรียนจริงๆ ชอบตามเพื่อนในกลุ่ม เป็นอาชีพยอดนิยม หรือตอบไปโดยยังไม่แน่ใจสักเท่าไหร่ว่าอยากทำอาชีพนั้นๆจริงหรือเปล่า สำหรับเด็กๆบางคนอาจรู้จักตัวเองมาตั้งแต่เล็กๆว่าชอบด้านวิทยาศาสตร์ ด้านภาษา หรือชอบด้านกีฬา แต่ไม่ว่าจะชอบด้านไหน อยากมีอาชีพอะไรในอนาคต เราก็ปฏิเสธไม่ได้จริงๆว่าทักษะที่สำคัญที่สุดด้านหนึ่ง ก็คือทักษะด้านการสื่อสารค่ะ

การสื่อสารในที่นี้ไม่ได้มุ่งเน้นเฉพาะด้านการพูดนะคะ แต่ยังรวมเอาด้านการฟัง การอ่าน และการเขียนเข้าไว้ด้วย  นักเรียนหลายคนชอบการพูดและมีความสุขทุกครั้งที่ได้พูด และแสดงความคิดเห็น มักไม่เกิดความรู้สึกเคอะเขิน และเพื่อนๆก็ชอบฟังในสิ่งที่เค้าพูดด้วยสิ ในขณะที่นักเรียนบางส่วน ชอบที่จะนั่งเงียบๆฟังเพื่อนพูด ไม่ออกความคิดเห็นหรือแสดงความคิดเห็นใดๆ นานๆจะพูดสักครั้งว่า “ก็ดีนะ” “เอาสิ” “อื้อ” หรือ “ยังไงก็ได้” แต่อย่างไรก็ตาม ทักษะทั้งสี่อย่าง ฟัง พูด อ่าน และเขียน นั้นไม่ได้ยากเลย ถึงแม้เราจะไม่ชอบพูด แต่เราก็พูดได้ แม้เราจะไม่ชอบอ่าน แต่เราก็อ่านได้ เพราะภาษาไทย เป็นภาษาถิ่นของเรา

แต่การสื่อสารที่ครูกำลังพูดถึงคือ การสื่อสารด้ายภาษาอังกฤษ ภาษาที่สองที่เด็กๆรุ่นใหม่ทุกๆคนต้องฟัง พูด อ่าน และเขียนได้ คอมพิวเตอร์และอินเตอร์เน็ต นวัตกรรมในโลกยุคใหม่ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วจนเราตามไม่ทัน โทรศัพท์มือถือสมาร์ตโฟน คอมพิวเตอร์โน้ตบุค ไอพอด ไอแพด ไอโฟน ไอโน่น ไอนี่ นวัตกรรมเหล่านี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ผู้ใช้ติดต่อสื่อสารอย่างรวดเร็ว ทำให้โลกที่กว้างใหญ่ใบนี้เล็กลงอีกเยอะ ภาษาอังกฤษถูกใช้เป็นภาษากลางในการสื่อสาร ทุกชาติทุกภาษาจำเป็นต้องสื่อสารเป็นภาษาอังกฤษ ดังนั้น ภาษาอังกฤษมีความจำเป็นอย่างยิ่งต่อการดำรงชีวิตให้อยู่รอดในอนาคต
เห็นความสำคัญของภาษาอังกฤษขนาดนี้แล้ว เรามาเริ่มทำใจให้ชอบภาษาอังกฤษกันดีกว่าค่ะ เพราะภาษาอังกฤษ..ไม่ยากเลย

Saturday, June 4, 2011

ทักทาย..ทายทัก

เมื่อวันก่อนได้เจอนักเรียนโรงเรียนประถมแห่งหนึ่งใน จ.สุพรรณบุรี คุยถามตอบกับชาวต่างชาติได้ เห็นแล้วก็อดชื่นชมและดีใจไม่ได้ที่คุณพ่อคุณแม่เล็งเห็นความสำคัญของ "ภาษาต่างประเทศ" และดีใจที่แม้ว่าจะเป็นนักเรียนต่างจังหวัด ก็มีความสามารถล้นเหลือไม่แพ้นักเรียนในกทม.เลยค่ะ ต่างจากสมัยก่อนตอนที่ครูตุ๊กเรียนหนังสือ จบปริญญาตรี ยังพูดภาษาอังกฤษไม่ได้สักคำ ไม่ได้โทษสถาบันหรือใครๆ แต่โทษตัวเองสถานเดียว

สมัยเรียนมัธยมที่รร.สตรีวิทยา มีลูกพี่ลูกน้องอยู่ 2 คน อยู่บ้านเดียวกันสมัยเรียนอยู่มัธยมในกรุงเทพ พูดภาษาอังกฤษเก่งมากๆ เราได้แต่นั่งฟังทำตาปริบ นึกในใจว่าทำไมพูดเก่งจัง (แอบนึกในใจว่าทำไมต้องทำเสียงดัดๆ...ขนาดนั้นน้อ) ส่วนเราไม่เคยพูดภาษาอังกฤษ ไม่คิดจะพูด ไม่กล้าพูด อาย กลัวเพื่อนแซวด้วย เหตุผลต่างๆนาๆทำให้เราไม่เคยสำนึกถึงความสำคัญของภาษาอังกฤษเลยสักนิดเดียว พอโตขึ้นเท่านั้นแหละเลยรู้ว่ามันสำคัญต่อชีวิตเราขนาดไหน..มันสำคัญเพราะมันเป็นภาษาเพื่อการสื่อสารค่ะ

เด็กนักเรียนสมัยนี้โชคดีมากที่มีทั้งคุณพ่อคุณแม่ที่สนับสนุนด้านการศึกษา เห็นความสำคัญของภาษาต่างประเทศ มีสถาบันการศึกษาใกล้ๆบ้านที่มุ่งสอนพัฒนาทักษะด้านการสื่อสารการใช้ภาษาอังกฤษ เพื่อรองรับความเป็นสากลในโลกที่กำลังย่อขนาดลงทุกวันเนื่องด้วยเทคโนโลยีใหม่ๆ อีกทั้งยังมีเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์และอินเตอร์เนทซึ่งเป็นแหล่งเรียนรู้ขนาดใหญ่ ให้นักเรียนได้ศึกษาหาความรู้ได้ไม่รู้จบ ครูตุ๊กบอกได้อย่างเดียวค่ะว่า นักเรียนสมัยนี้ โชคดีจริงๆ..